วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ประวัติของส้มตำ



ประวัติของส้มตำ



ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่ามีการนำมะละกอดิบมาปรุงเป็นส้มตำเป็นครั้งแรกเมื่อใด อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงที่มาของส่วนประกอบต่างๆ ของส้มตำ อาจได้ข้อมูลเบื้องต้นเพื่อประกอบการสันนิษฐานถึงที่มาของส้มตำได้
มะละกอเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางและถูกนำเข้ามาปลูกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยชาวสเปนและโปรตุเกส ในยุคต้นของกรุงศรีอยุธยา ในขณะที่พริกอาจถูกนำเข้ามาเผยแพร่โดยชาวฮอลันดาในช่วงเวลาต่อมา
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีทูตชาวฝรั่งเศสผู้มาเยือนกรุงศรีอยุธยา คือ นิโคลาส์ แชรแวส และ เดอ ลาลูแบร์ ต่างได้พรรณาว่าในเวลานั้นมะละกอได้กลายเป็นพืชพื้นเมืองชนิดหนึ่งของสยามไปแล้ว[1] และได้กล่าวถึงกระเทียม มะนาว มะม่วง กุ้งแห้ง ปลาร้า ปลากรอบ กล้วย น้ำตาล แตงกวา พริกไทย ถั่วชนิดต่างๆ ที่ล้วนสามารถใช้เป็นส่วนประกอบสำหรับปรุงส้มตำได้ ขณะเดียวกันได้เขียนว่า ในขณะนั้นสยามไม่มีกะหล่ำปลี และชาวสยามนิยมบริโภคข้าวสวย อย่างไรก็ตามไม่มีการกล่าวถึง มะเขือเทศ และ พริกสด แต่อย่างใด
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ปรากฏว่าส้มตำเป็นอาหารระดับราชสำนัก ซึ่งราชวงศ์ลาวและราชวงศ์ไทยเชื้อสายลาวนิยมขึ้นโต๊ะด้วย ดังปรากฏความในนิราศวังบางยี่ขัน ซึ่งแต่งโดยคุณพุ่ม (บุษบาท่าเรือจ้าง) เมื่อครั้งตามเสด็จพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงนารีรัตนา พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๔ ทรงเสด็จไปเยี่ยมพระญาติจากราชวงศ์เวียงจันทน์ที่ถูกถอดออกจากราชการ คือเจ้าจันทรเทพสุริยวงศ์ ดำรงรัฐสีมา มุกดาหาราธิบดี (หนู จันทนากร) เจ้าเมืองมุกดาหารประเทศราช อดีตพระนครศรีบริรักษ์ บรมราชภักดี ศรีศุภสุนทร เจ้าเมืองขอนแก่น พี่ชายของเจ้าจอมมารดาดวงคำ (หนูมั่น ณ เวียงจันทน์) เมื่อปีมะเส็ง พุทธศักราช ๒๔๑๒ ความว่า
".........แล้วมานั่งยังน่าพลับพลาพร้อม พี่น้องล้อมเรียงกันสิ้นเลยกินเข้า หมี่หมูแนมแถมส้มตำทำไม่เบา เครื่องเกาเหลาหูฉลามชามโตโต ที่มาเฝ้าเจ้าน้ามุกดาหาร พาสำราญรายรักขึ้นอักโข ยังวิโยคอยู่ด้วยโรคโรโค ดูโศกโซเศร้าซูบเสียรูปทรง........."
ในปัจจุบัน ส้มตำเป็นอาหารที่แพร่หลายและนิยมรับประทานทุกภาคของประเทศไทย และยังเป็นอาหารไทยที่ขึ้นหน้าขึ้นตาต่อชาวโลกอีกด้วย สำหรับชนชาติลาวสองฝั่งโขงแล้ว ส้มตำถือเป็นอาหารประจำชนชาติคู่กันกับปลาร้า

ตำหมากหุ่ง: ส้มตำในประเทศลาว

ในภาษาลาวเรียกส้มตำว่า ตำหมากหุ่ง (หมากหุ่งหมายถึงมะละกอ) หรือตำบักหุ่ง บางครั้งเรียกว่า ตำส้ม คำว่า ส้ม ในภาษาลาวแปลว่า เปรี้ยว คำว่า ส้มตำ จึงเป็นคำในภาษาลาวที่ถูกนำมาเรียกโดยคนไทย เครื่องปรุงโดยทั่วไปของส้มตำลาวประกอบด้วยมะละกอสับเป็นเส้น เกลือ แป้งนัวหรือผงนัว (ผงชูรส) หมากเผ็ด (พริก) กระเทียม น้ำตาล น้ำปลา น้ำปลาแดกหรือน้ำปลาร้า หมากนาว (มะนาว) หมากถั่ว (ถั่วฝักยาว) และอื่นๆ บางแห่งยังพบว่านิยมใส่เม็ดกระถินและใช้กะปิแทนปาแดกด้วย บางแห่งยังพบว่ามีการใส่ปูดิบที่ยังไม่ตาย และใส่น้ำปูจากวัฒนธรรมของชาวล้านนาลงไปด้วย ชาวลาวถือว่าการทำส้มตำแบบโบราณที่โรยถั่วลิสงคั่วลงไปด้วยหรือทำรสให้หวานนำถือว่า "ขะลำสูตร" หรือผิดสูตรดั้งเดิม และผู้ตำมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไร้ฝีมือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น