วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ส้มตำ




ส้มตำ





ส้มตำ เป็นอาหารคาวที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากที่สุดของวัฒนธรรมชนชาติลาว ภายหลังการยึดดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงแล้ว ต่อมาส้มตำได้กลายเป็นอาหารไทยอย่างหนึ่งด้วย และเป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วทุกภูมิภาค ตลอดจนกลายเป็นอาหารที่มีชื่อเสียงของไทยควบคู่กับผัดไทยและต้มยำกุ้ง ส้มตำมีประวัติศาสตร์ต้นกำเนิดไม่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเป็นอาหารที่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและประเทศลาว ซึ่งในอดีตถือเป็นแผ่นดินเดียวกัน เดิมนั้น ส้มตำมักปรุงโดยนำมะละกอดิบที่ขูดเป็นเส้นมาตำในครกเป็นหลัก พร้อมด้วยวัตถุดิบอื่นๆ คือ มะเขือเทศลูกเล็ก มะเขือสีดา มะเขือเปราะ พริกสดหรือพริกแห้ง ถั่วฝักยาว กระเทียม และปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บหรือน้ำตาลอื่นๆ (ไม่นิยมน้ำตาลทรายเด็ดขาด) น้ำปลา มะนาว เมื่อส้มตำแพร่หลายในวัฒนธรรมชนชาติไทยสยามแล้วจึงมีการเพิ่มกุ้งแห้ง ถั่วลิสงคั่ว ปูดอง ปูเค็ม หรือปูสุกลงไปด้วย สิ่งที่ขาดไม่ได้ในวัฒนธรรมลาวก็คือ ปาแดก ปาแดกเป็นเอกลักษณ์สำคัญของอาหารประเภทส้มตำของวัฒนธรรมลาว ซึ่งคนไทยมีอาหารคล้ายกันนี้เรียกว่าปลาร้า (ปาแดกกับปลาร้ามีสูตรแตกต่างกันคือ ปลาแดกจะผสมรำ ส่วนปลาร้าจะผสมข้าวคั่ว)
ส่วนผสมและเครื่องปรุงต่างๆเหล่านี้ทำให้ส้มตำมีรสเผ็ด เค็ม และเปรี้ยว สำหรับชาวลาวและอีสานนั้นนิยมส้มตำรสเผ็ดเค็ม ส่วนชายไทยนั้นนิยมรสเปรี้ยวหวาน ส้มตำนิยมรับประทานคู่กันกับข้าวเหนียว ซึ่งชาวเหนือเรียกว่าข้าวนึ่ง และไก่ย่าง บางครั้งนิยมรับประทานคู่กับขนมจีน เส้นเล็กลวก เส้นหมี่ และแคบหมู โดยมีผักสดเป็นเครื่องเคียง เช่น กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง ตลอดจน ผักดอง (ส้มผัก) ผักกาดขาว ผักชีฝรั่ง (หอมเป) ถั่วงอก ทูน ใบชะพลู (ผักอีเลิศ) เป็นต้น นอกจากนี้ ร้านค้าส้มตำส่วนใหญ่ มักมีอาหารอีสานอย่างอื่นขายร่วมด้วย เช่น ซุปหน่อไม้ อ่อม ลาบ ก้อย แจ่ว ปลาแดกบอง น้ำตก ซกเล็ก ตับหวาน ไก่ย่าง คอหมูย่าง พวงนม กุ้งเต้น (ก้อยกุ้ง) ข้าวเหนียว เป็นต้น

1 ความคิดเห็น: